เรือโบราณลำนี้ เป็นเรือขุดจากไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่ทั้งต้น มีสภาพที่สมบูรณ์ คาดว่าเป็นของทหารญี่ปุ่นใช้ตรวจการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่ก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะในสมัยนั้น เนื่องจากอุปกรณ์ที่ประกอบอยู่ในเรือ ไม่ว่าจะเป็นหางเสือเรือที่ทำจากไม้ ส่วนใบพัด พวงมาลัยเรือ และเครื่องยนต์ทำจากเหล็กมีขนาดความยาวประมาณ 8 เมตร ความกว้างประมาณ 1.50 เมตร และลึกประมาณ 90 เซนติเมตร ซึ่งผู้ที่จะเป็นเจ้าของเรือขุดขนาดใหญ่ลำนี้ จะต้องเป็นผู้มีฐานะดีมาก หรืออยู่ในระดับเจ้าขุน เจ้านาย เพราะจะมีราคาแพงมากในสมัยนั้น
ค้นพบที่บริเวณ ท่าน้ำสะพานวัดปรังกาสี ในแม่น้ำแควน้อย ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ โดย นายโภคิน ภูมิภาคสุวรรณ อยู่บ้านเลขที่ 15/36 ม.3 บ้านปรังกาสี อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เล่าว่า “ตนและเพื่อนๆ อีก 10 คน ได้ไปดำน้ำหาปลาในบริเวณแก่งเหนือบ้านจันเดย์ในแม่น้ำแควน้อย ซึ่งเป็นกิจวัตรที่ทำประจำ เมื่อวันลอยกระทง ปี พ.ศ. 2555 ได้ดำน้ำหาปลาลึกลงไปประมาณ 4 เมตรก็ไปพบกับหางเรือไม้โบราณซึ่งโผล่ขึ้นมาจากผิวดินใต้น้ำประมาณ 1 เมตรส่วนตัวลำเรือจมอยู่ในดินใต้น้ำ แต่ไม่ได้สนใจ เล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ก็ไม่มีใครสนใจ เพราะคิดว่าเป็นเรือหาปลาโดยทั่วไป ไม่ได้มีลักษณะพิเศษอะไร เคยลองไปเอาขึ้นแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ขึ้น อาจเป็นเพราะทำพิธีไม่ถูกก็เป็นได้ เพราะว่าครั้งนั้นใช้หัวหมู ไก่ เป็นของคาวทั้งสิ้น ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงเลิกล้มความคิดไป แต่อยู่มาจนถึงปี 2556 ประมาณต้นเดือนกรกฎาคม ได้ฝันถึงเรือโบราณลำนี้ ว่าดำน้ำลงไปแล้วไม่พบ คิดว่ามีคนมาขโมยไปแล้ว ก็เกิดความโมโห ว่าตนเองเป็นคนพบก่อน แล้วมีใครมาเอาของตนไปได้อย่างไร พอสะดุ้งตื่นจึงพบว่าตนเองฝันไป ต่อจากนั้นอีกไม่กี่วันก็ได้ดำน้ำลงไปพิสูจน์ว่าหายจริงหรือไม่ ก็พบว่ายังอยู่สภาพเดิมที่พบครั้งแรก คิดเอะใจว่าจะเป็นการดลจิตดลใจอะไรหรือเปล่า ทำให้ตนเองเกิดความคิด และตั้งใจที่จะนำเรือขึ้นให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรืออะไร สภาพใดก็ตาม และตั้งใจไว้ว่าถ้านำเรือขึ้นมาได้จะเอาไว้ที่วัดปรังกาสี
ต่อจากนั้นจึงได้เกณฑ์เพื่อนๆ ไปช่วยกัน ทำทุกวิธีที่จะให้เรือขึ้นจากน้ำได้ ซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามเป็นอย่างยิ่ง โดยใช้เครื่องสูบน้ำตั้งไว้บนเรือของตนเอง ดูดน้ำขึ้นมาแล้วจึงฉีดน้ำเข้าไปไล่ทรายที่อยู่ในเรือโบราณ ซึ่งจมอยู่ในทรายประมาณเกือบ 3 เมตร อยู่ในน้ำลึกประมาณ 4 เมตร โดยจะไปวันเว้นวันนับตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 14 ก.ค. 56 และวันอังคารที่ 16 ก.ค. 56 และวันสุดท้าย วันศุกร์ที่ 19 ก.ค. 56 เพราะว่าการไล่ทรายออกจากเรือนั้นทำได้ยากมาก เริ่มไล่ทรายตั้งแต่เช้าเวลาประมาณ 8 โมงเช้า จนถึงบ่าย 2 ก็ต้องเลิกทำ เพราะทางเขื่อนวชิราลงกรณจะเริ่มปล่อยน้ำมาจากระดับน้ำ 4 เมตร ก็จะกลายเป็นลึกถึง 10 เมตรกว่า แล้วอุปกรณ์สำหรับดำน้ำก็มีชุดเดียว คนอื่นๆ ลงมาช่วยก็ช่วยได้ไม่มากนัก เพราะต้องขึ้นไปหายใจแล้วก็ลงมาช่วยใหม่ แต่ทุกคนก็ไม่ย่อท้อ นอกจากนั้นยังได้น้ำถังน้ำมัน 200 ลิตรหลายลูกมาผูกกับเรือเอาไว้เพื่อให้ง่ายต่อการดึงเรือขึ้นโดยไม่ต้องใช้แรงคนมากนัก
จนกระทั่งวันศุกร์ที่ 19 ก.ค. 56 เวลาประมาณ 16.00 น. ก็สามารถกู้ซากเรือขึ้นมาบนผิวน้ำได้ จึงพบว่าเป็นเรือขุดจากไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่ทั้งต้น ซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก คิดว่าถ้าซ่อมเครื่องเรือได้ก็คงจะใช้ได้ตามปกติ จากนั้นได้ใช้เรือชักลากเรือโบราณดังกล่าวขึ้นมาไว้ที่ริมตลิ่งบริเวณท่าน้ำวัดปรังกาสี แล้วได้กลับมาบอกกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกันให้ไปนิมนต์ พระครูวรกาญจนโชติ เจ้าอาวาสวัดปรังกาสี ทำพิธีเพื่อทำการกู้ซากเรือดังกล่าวขึ้นมา แล้วให้นำไปไว้ที่วัดปรังกาสี ในวันเสาร์ที่ 21 ก.ค. 56 ได้ทำพิธีอัญเชิญอีกครั้ง มีแต่ผลไม้ ไม่มีของคาว ก็ปรากฏว่าสามารถใช้รถเครนคันใหญ่ (โดยการสนับสนุนจาก นายจิรชัย ถนอมวงษ์ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลท่าขนุน) ยกเรือขึ้นจากน้ำโดยมีชาวบ้านมาช่วยกันประคองเรือไว้ แล้วนำเรือไปตั้งไว้ที่วัดปรังกาสี เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาเที่ยวชม กราบไหว้บูชาตามความเชื่อส่วนบุคคล และให้นักเรียน ได้เข้าชมเพื่อศึกษาเรียนรู้เรื่องราวประวัติความเป็นมาของเรือลำนี้ เนื่องจากเรือดังกล่าวเป็นเรือโบราณที่หาดูได้ยาก เชื่อว่าเป็นเรือของผู้ที่มีฐานะในสมัยนั้น
ซึ่งในตอนนี้ ก็ได้มีปาฏิหาริย์ให้เห็นอีกครั้ง เมื่อจะนำเรือลงจากรถที่บรรทุกมา ปรากฏว่ารถเครนที่ยกเรือขึ้นจากน้ำ ไม่สามารถยกเรือลงจากรถบรรทุกได้ ก็เลยนิมนต์ให้เจ้าอาวาสวัดปรังกาสี ได้จุดธูปบอกกล่าว อัญเชิญเรือลงจากรถอีกครั้งหนึ่ง ก็ปรากฏว่าสามารถยกเรือลงมาได้อย่างง่ายดาย ทำให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา
หลังจากที่ได้ทำสถานที่ตั้งเรือเรียบร้อยแล้วก็มีประชาชนที่ทราบข่าว เดินทางมากราบไหว้ขอโชคขอลาภกันตลอดวันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา